จุดเริ่มต้นรูปหล่ออัศจรรย์
ในวันศุกร์ที่ 6 ม.ค. 2560 หลวงปู่ท่านได้มอบของสิ่งหนึ่งมีลักษณะเหมือนแก้วสีแดงอมส้ม เนื้อใสบริสุทธิ์ สวยงาม ให้ไปเก็บรักษาไว้ก่อน พร้อมที่จะนำไปทำวัตถุมงคลในกาลต่อไป
ดำริหลวงปู่จัดสร้าง
วันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. 2560 หลวงปู่ท่านได้เรียกให้ไปพบ แล้วท่านมีดำริมาว่า ให้นำเอาแก้วสารพัดนึก (ที่มีขนาดประมาณครึ่งกำมือ) ให้นำไปย่อยเป็นเม็ดเล็กๆ ให้มีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเขียว แล้วให้นำมาบรรจุในพระองค์เล็กขนาดห้อยคอซึ่งหลวงปู่ท่านให้ทำเป็น รูปเหมือนของท่านบรรจุแก้วสารพัดนึก หลวงปู่ท่านยังกำชับอีกว่า จะบรรจุแก้วสารพัดนึกยังไงก็ได้แต่ต้องให้มองเห็น
อัศจรรย์แก้วสารพัดนึก
วันเสาร์ที่ 28 ม.ค. 2560 ในช่วงบ่ายขณะที่ถวายนวดหลวงปู่ พร้อมกับครูบาในวัด หลวงปู่ท่านได้เมตตาเล่าที่มาของแก้วสารพัดนึกให้ฟังว่า…แก้วสารพัดนึกนี้ท่านได้เก็บรักษาไว้นานแล้ว วันที่ท่านได้มานั้น ขณะที่หลวงปู่ท่านกำลังปัดเก็บที่นอนอยู่ แก้วเม็ดนี้ได้มาแสดงตัว ปรากฏอยู่ตรงที่นอนของท่าน มาเอง แล้วหลวงปู่ท่านได้ก็กล่าวว่า
” อาตมาไม่เคยอยากจะได้ แค่อยากจะเห็นเฉยๆว่า ของวิเศษมันเป็นยังไง
แต่เขากับเอามามอบให้อาตมา “
การที่หลวงปู่ท่านได้เอ่ยวาจามาว่า แก้วเม็ดนี้เป็นของวิเศษ แสดงว่าไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะหลวงปู่ท่านจะไม่ค่อยได้เอ่ยหรือกล่าวว่า สิ่งใดเป็นของวิเศษหรือมีฤทธิ์ น้อยครั้งที่ท่านจะกล่าวออกมา มีแต่บอกว่า ก็แค่นั้นหรือไม่ก็ว่าไม่สลักสำคัญอะไรพอที่จะให้ตื่นเต้น แม้กระทั่งเหล็กเปียก เหล็กไหล
แต่สำหรับแก้วสารพัดนึกนี้ หลวงปู่ท่านได้เอ่ยวาจาว่าเป็นของวิเศษ และท่านได้เก็บรักษาเอาไว้ในย่ามท่านตลอด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ความศักดิ์สิทธิ์ และฤทธิ์ธา พุทธานุภาพของแก้วเม็ดนี้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งการมาของแก้วสารพัดนึกนี้ก็ไม่ธรรมดา สุดแสนอัศจรรย์ยิ่ง..
การแยกเม็ดแก้วสารพัดนึก
แก้วสารพัดนึกขนาดไม่ถึงหนึ่งกำปั้นแต่หนักถึงเกือบ 5 ขีด ได้ไปทำการย่อย แล้วเจียรโดยช่างพัด บ้านสร้างมิ่ง ย่อยเป็นเม็ดเล็กๆขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 5 มิลลิเมตร ได้จำนวน 205 เม็ด แล้วยังมีเม็ดที่มีรูปทรงรีอีก 83 เม็ด และเป็นทรงเหลี่ยมอีก 3 เม็ด รวมเป็นทั้งหมด 291 เม็ด
เท่ากับว่า จำนวนพระรูปหล่อทั้งหมดทุกเนื้อรวมกันจะมี 291 องค์ ตามจำนวนเม็ดแก้วสารพัดนึก เพราะยึดเอาเม็ดแก้วสารพัดนึกเป็นหลัก ได้จำนวนเท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น
เม็ดแก้วสารพัดนึกนี้ได้มีคุณลักษณะพิเศษคือ ใสเหมือนแก้ว หนักเหมือนเหล็ก แกร่งเหมือนเพชร ความแกร่งนี้ช่างที่เจียรได้บอกเอาไว้ว่า ความแข็งนั้นอยู่ในจำพวก ตระกูลเพชร
แบบรูปหล่อ
หลังจากหลวงปู่ท่านได้มีดำริมาแล้วว่า ให้ทำเป็นรูปหล่อขนาดห้อยคอ ดังนั้นจึงหาภาพหลวงปู่ที่จะนำมาปั้นเป็นต้นแบบ แล้วได้ความสรุปว่า จะใช้ภาพหลวงปู่ในช่วงที่ท่านอยู่ช่วงอายุ 70 กว่า เป็นภาพถ่ายที่ท่านได้เมตตาให้ศิษย์ถ่ายภาพที่กุฏิของท่าน ที่วัดป่าอรัญญาวิเวก ที่บ้านไก่คำ จ.อำนาจเจริญ
แล้วรูปหล่อรุ่นนี้ก็จะนำถวายหลวงปู่ที่วัดป่าอรัญญาวิเวก บ้านไก่คำ จ.อำนาจเจริญ เช่นกัน
งานขึ้นต้นแบบหุ่นขี้ผึ้ง
ในงานปั้นหุ่นต้นแบบ เมื่อได้ภาพต้นแบบแล้ว ได้มองหาช่างปั้นที่จะถ่ายทอดความละเอียดอ่อน ความสวยงาม ของรูปหล่อรุ่นนี้ เพื่อให้สมกับที่หลวงปู่ท่านให้ความสำคัญของรูปหล่อรุ่นนี้เป็นอย่างมาก พร้อมทั้งยังเน้นย้ำให้นำแก้วสารพัดนึกมาบรรจุไว้
แล้วที่สุดก็ได้ช่างปั้นที่เป็นผู้หญิง มารับหน้าที่ในการปั้นต้นแบบของรูปหล่อรุ่นนี้ โดยขึ้นหุ่นด้วยขี้ผึ้งแทนหุ่นหิน เพื่อที่จะถ่ายทอดความงามของงานปั้น ความอ่อนโยนสวยงามพร้อมศิลป์ให้ลงตัวมากที่สุด
และในวันเสาร์ที่ 11 ก.พ. 2560 งานต้นแบบหุ่นขี้ผึ้งได้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อได้พิจารณาหุ่นขี้ผึ้งต้นแบบดีแล้ว มีความสวยงามลงตัวเป็นอย่างมาก งานปั้นได้เหมือนภาพต้นแบบถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม เสมือนหลวงปู่ท่านนั่งอยู่ตรงหน้าเลยทีเดียว
หล่อต้นแบบ
หลังจากนั้นได้นำหุ่นขี้ผึ้งไปให้ช่างเข้าแบบปูนเพื่อเทเป็นองค์ต้นแบบ โดยได้เทองค์ต้นแบบเป็นเนื้อเงิน หลังจากนั้นนำองค์ต้นแบบไปให้ช่างขัดเกลารายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้นพร้อมทั้งแกะชื่อหลวงปู่ที่ฐานให้เรียบร้อย พร้อมที่จะนำไปถอดหุ่นเทียนเพื่อทำการหล่อต่อไป
งานหล่อพระรูปหล่อรุ่นนี้ได้ใช้ กรรมวิธีแบบหล่อเหวี่ยง เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อหล่อเสร็จดีแล้วทุกเนื้อ ได้นำเอาเนื้อเงินกับเนื้อนวะไปปลอกผิว หลังจากปลอกผิวเสร็จแล้ว ก็ได้นำพระไปขัดผิวโดยร้านจิวเวอรี่
หลังจากนั้นได้นำรูปหล่อทั้งหมดไปบรรจุผงพุทธคุณที่ใต้ฐานองค์พระ แล้วนำเอาเม็ดแก้วสารพัดนึกฝังลงไปในเนื้อผง แต่สามารถมองเห็นทุกองค์ตามดำริของหลวงปู่ ส่วนผงที่นำมาบรรจุใต้ฐานองค์พระ ได้นำผงพุทธคุณหลายคณาจารย์รวมทั้ง พระผงเพ็ชร แตกหัก แล้วนำ เกศาของหลวงปู่ มาซอยให้เป็นเส้นเล็กๆแล้วผสมลงไปด้วย
จำนวนในการจัดสร้าง
- เนื้อทองคำ 16 องค์ ( ตอกโค๊ต มะ อะ อุ )
- เนื้อนวะโลหะ 56 องค์ ( ตอกโค๊ต มะ )
- เนื้อเงินผสมทองคำ 63 องค์ ( ตอกโค๊ต อะ )
- เนื้อขันลงหิน 154+1 องค์ ( ตอกโค๊ต อุ )
- เนื้อเงินต้นแบบ 1 องค์ ( ตอกโค๊ต มะ อะ อุ )
วันอธิษฐานจิต
รูปหล่ออัศจรรย์หลวงปู่ได้เมตตาอธิษฐานจิตในวันอังคารที่ 15 มี.ค. 2560 ในช่วงเวลา 18.30 น. ถ้าจะนับวัตถุมงคลทั้งหมดของหลวงปู่ รุ่นนี้น่าจะเป็นรุ่นเดียวที่หลวงปู่ท่านได้อธิษฐานจิตในช่วงเวลาพลบค่ำ
เหตุที่รูปหล่ออัศจรรย์ ได้นำไปให้หลวงปู่ท่านเมตตาอธิษฐานจิตในตอนใกล้ค่ำเพราะว่า ในวันดังกล่าวขณะเดินทางจากกรุงเทพโดยรถยนต์ เพื่อมายังจังหวัดอำนาจเจริญ ในตอนนั้นเป็นเวลาช่วงบ่าย หลวงปู่ท่านได้บอกให้ลูกศิษย์ที่วัดโทรมาบอกว่า ถ้ามาถึงให้เข้ามาหาท่านที่กุฏิเลย ท่านรออยู่ เมื่อมาถึงกุฏิท่านในช่วงเย็น ท่านให้นำรูปหล่ออัศจรรย์นี้มาให้ท่านดูและหลวงปู่ท่านก็ได้อธิษฐานจิตให้เลยในวันเวลาดังกล่าว
แสดงให้เห็นว่า หลวงปู่ท่านให้ความสำคัญกับพระชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยมีปรากฏมาก่อนที่หลวงปู่ท่านจะรอวัตถุมงคล เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่หลวงปู่ท่านพักผ่อนแล้ว และจะไม่มีใครกล้ารบกวนท่านเด็ดขาดถ้าไม่มีคำสั่งจากหลวงปู่ รูปหล่อรุ่นนี้จึงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ดั่งเช่นที่หลวงปู่ท่านได้เอ่ยวาจาไว้ว่า
” อยากได้อะไร ก็ให้ขอเอาในนี้ “ เมื่อหลวงปู่ท่านอธิษฐานจิตเสร็จดีแล้ว หลวงปู่ท่านได้หยิบเอารูปหล่ออัศจรรย์ขึ้นมาพิจารณา ท่านก็ได้พลิกดูที่ใต้ฐานรูปหล่อแล้วหลวงปู่ท่านได้เอ่ยวาจาขณะที่มือของท่านยังถือรูปหล่ออยู่ว่า ” สิ่งที่สำคัญที่สุดได้มาอยู่ตรงนี้แล้ว “
*หมายเหตุ *
เฉพาะเนื้อขันลงหินจะมีหมายเลข 33 สององค์ เนื่องมาจากการตอกหมายเลขซ้ำกัน
ดังนั้น ผู้จัดสร้างจึงได้นำหมายเลข 33 ในองค์ที่ตอกซ้ำกัน มาตอกโค๊ตเพิ่มอีกหนึ่งตัว ตอกเพิ่มตรงบริเวณสังฆาฏิด้านหน้า
ฉะนั้น รูปหล่ออัศจรรย์เนื้อขันลงหินองค์หมายเลข 33 จะมี 2 องค์ คือ องค์ 1 โค๊ตและ องค์ 2 โค๊ต
*หมายเหตุ*
เนื้อขันลงหิน หมายเลข 66 มีเฉพาะหมายเลข แต่ไม่มีโค๊ต เนื่องจากช่างลืมตอกโค๊ต และโค๊ตได้ทำลายไปแล้ว
สรุปแล้ว รูปหล่ออัศจรรย์เนื้อขันลงหินจะมีทั้งหมด 155 องค์ และจะมีหมายเลขที่ตอกกำกับองค์พระที่หมายเลข 1 – 154 เท่านั้น